สำหรับคอรายการ Shark Tank Thailand ต้องได้ยินคำศัพท์สะดุดหูหลายต่อหลายคำที่เกี่ยวข้องกับแวดวงธุรกิจทั้งจากเหล่า Shark และ ผู้ประกอบการ กันอยู่ทุกตอน วันนี้เรารวบรวม 10 อันดับคำศัพท์ยอดฮิตฉบับ Shark Tank Thailand มาฝากกันครับ

  1. Business Deal หมายถึง ข้อตกลงทางธุรกิจ
  2. Strategic Partner หุ้นส่วนหรือพันธมิตรเชิงกลยุทธ์
  3. Modern Trade การค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง สะดวก ต้นทุนต่ำ
  4. Digital Marketing การทำการตลาด โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น
  5. Franchise ธุรกิจที่ผู้ค้ารายย่อยดำเนินธุรกิจในนามของอีกบริษัทหนึ่ง โดยได้รับอนุญาตจากบริษัทนั้นๆ โดยส่วนใหญ่การขายสินค้าหรือบริการ รวมถึงภาพลักษณ์และลักษณะการดำเนินธุรกิจจะได้รับการแนะนำหรือควบคุมโดยบริษัทผู้ให้สิทธิอนุญาต
  6. Merchandize การขายสินค้า
  7. OEM (Original Equipment Manufacturer) การรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ ตามแบบที่ลูกค้ากำหนด
  8. SOD (Standing Order) การยืนยันจำนวนสั่งซื้อ
  9. B2B (Business to Business) การค้าระหว่างผู้ค้ากับลูกค้าแต่ลูกค้าจะเป็นในรูปแบบของผู้ประกอบการ ซึ่งซื้อสินค้าและบริการเพื่อนำไปผลิตต่อด้วยการเพิ่มคุณค่าให้เป็นสินค้าและบริการอีกอย่างหนึ่ง หรือร้านค้าปลีกสั่งซื้อสินค้ากับบริษัทผู้ผลิตสินค้า ไม่ได้นำไปอุปโภคหรือบริโภคเอง โดยส่วนใหญ่ผู้ซื้อและผู้ขายมักจะรู้จักกันล่วงหน้า และอาจทำเอกสารสัญญาที่เป็นกระดาษกันล่วงหน้า
  10. B2C (Business to Consumer) การค้าระหว่างผู้ค้าถึงลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคโดยตรง

เปิดรับสมัครด่วน!! สำหรับผู้สนใจมองหาเงินทุนต่อยอดธุรกิจ กับรายการดังระดับโลก “Shark Tank Thailand” รายการเรียลลิตี้โชว์เชิงธุรกิจ เป็นรายการดังที่ได้ออนแอร์ไปแล้วในหลายประเทศทั่วโลก โดยต้นฉบับมาจากรายการ Dragons’ Den ประเทศญี่ปุ่น และโด่งดังมากที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลายท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อของรายการ Shark Tank มาบ้างตามเว็บไซต์ธุรกิจต่างๆ แต่ใครจะบ้างจะรู้ว่าที่มาที่ไปของรายการมาจากไหน วันนี้เรามีสรุปให้คุณได้รู้จักรายการนี้มากยิ่งขึ้น

  1. รายการ SHARK TANK เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น ใช้ชื่อว่า DRAGON’S DEN โดย NIPPON TV เดือน ตุลาคม ปี 2001
  2. ประเทศที่ 2 ที่ ทำรายการ SHARK TANK คือ ประเทศ อังกฤษ โดย BBCในเดือนมกราคม 2005
  3. รายการ SHARK TANK โด่งดังมาก ที่ประเทศออสเตรเลีย เดือนพฤศจิกายน ปี 2005
  4. ที่สหรัฐอเมริกา ผลิตรายการ SHARK TANK ครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ปี 2009
  5. ณ ปัจจุบัน ปี 2018 รายการ SHARK TANK มีผลิตแล้ว รวม 40 ประเทศ ทั่วโลก
  6. ประเทศไทย นำ รายการ SHARK TANK เข้ามา โดยบริษัท วันดี มีเดีย จำกัด ในปี 2017 เป็นประเทศที่ 36 จาก 40 ประเทศทั่วโลก และออกอากาศในปี 2018
  7. SHARK TANK หรือ DRAGON’S DEN คือรายการเดียวกัน ประเทศที่ซื้อ FORMAT ไป สามารถเลือกชื่อรายการได้ตาม LOCAL MARKET NEEDS
  8. ปี 2015 และ 2014 รายการ SHARK TANK USA ชนะ รางวัล Best Reality Series in USA
  9. ปี 2014 รายการ SHARK TANK USA ชนะ รางวัล Outstanding Structured Reality Program, Creative Arts Emmy Awards
  10. ปี 2005 ,2011, 2014 และ 2015 รายการ SHARK TANK CANADA ชนะ รางวัล Best Reality , Canadian Success Award

ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายการ Shark Tank Thailand เท่านั้น หากอยากรู้จักรายการมากยิ่งขึ้น ต้องรอติดตามอัพเดตจากทางเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง แล้วเจอกันปลายปีนี้ Shark Tank Thailand

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองเทรนด์ลงทุนภาครัฐ, เที่ยวไทย, สังคมสูงวัย ปีหน้ายังดี ขณะเดียวกันเทรนด์เศรษฐกิจโลกโตหนุนธุรกิจส่งออกโตสดใส และเทรนด์ดิจิทัลพลิกสมรภูมิค้าปลีก/ค้าส่งไทย พร้อมทั้งล้วงลึก 15 ธุรกิจแนวโน้มสดใสโตตาม 5 เทรนด์เศรษฐกิจปี 2561

1.เทรนด์การลงทุนภาครัฐ

เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้น 2 – 3 ปีต่อเนื่อง ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินก่อสร้างกว่า 7.7 แสนล้านบาท จากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ส่วนใหญ่อยู่ในระยะก่อสร้าง โครงการลงทุนและจัดซื้อตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561

โดยภาครัฐฯ ได้เร่งการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ธุรกิจเด่นที่ได้รับอานิสงค์ คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจที่ปรึกษาการก่อสร้าง/สิ่งแวดล้อม ธุรกิจขาย/ให้เช่าเครื่องจักรกลก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น เพราะนโยบายพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) ทำให้มีการลงทุนก่อสร้างโรงงาน สำนักงาน ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เป็นแรงหนุนธุรกิจกิจกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องในปีหน้า

2.เทรนด์ท่องเที่ยวไทย

ปีจอยังคงกระแสดีอย่างต่อเนื่อง TMB Analytics คาดการณ์ไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 37.0 ล้านคนในปีหน้า หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ฯลฯ

ธุรกิจดาวเด่นที่ได้รับประโยชน์จากเทรนด์นี้คือ ธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่ง อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่รออยู่คือ ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวนั้นท่องเที่ยวในไทยนานขึ้นและกระจายนักท่องเที่ยวสู่จังหวัดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการบ้านที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬายังต้องคิดต่อไป

3.เทรนด์สังคมสูงวัยและใส่ใจสุขภาพ

มีอิทธิพลต่อธุรกิจและเศรษฐกิจไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอัตราประชากรสูงอายุที่คาดว่าปีหน้า จะมีจำนวนกว่า 10.5 ล้านคน หรือร้อยละ 16.0 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 12.3 ล้านคน ในอีก 5 ปีข้างหน้า

นอกจากเม็ดเงินใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพที่เพิ่มตามจำนวนผู้สูงอายุแล้ว กระแสการดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย เล่นกีฬา เช่น การวิ่งออกกำลังกาย ฟิตเนส โยคะ แบดมินตัน ยังคงทำให้การใช้จ่ายด้านกีฬาและสันทนาการเพิ่มขึ้น ธุรกิจดาวเด่นตามเทรนด์นี้ คือ ธุรกิจดูแลผู้สูงวัย ร้านขายยาและอาหารเสริม ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ออกกำลังกาย

4.เทรนด์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

เป็นเทรนด์ล่าสุด ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรป สหรัฐฯ และตลาดเกิดใหม่ในโซนเอเชีย ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ยอดส่งออกของไทย 10 เดือนแรกขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 9.7

TMB Analytics คาดว่า ส่งออกไทยนี้ปี จะขยายตัวได้ร้อยละ 8 และคาดว่าจะเป็นแรงเหวี่ยงต่อเนื่องหนุนส่งออกไทยปีหน้าขยายตัวได้อีก ร้อยละ 4.8 ซึ่งธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลดีส่งออกได้มากขึ้น คือ ธุรกิจส่งออกอาหารแปรรูป ธุรกิจส่งออกผัก/ผลไม้ และ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

5.เทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัล

สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีกจากเดิมเข้าสู่การค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น นอกจากพฤติกรรมการจับจ่ายของคนไทยจะเปลี่ยนมาซื้อสินค้าบริการผ่านอินเตอร์เน็ตแล้ว ระบบการชำระเงินผ่านบริการพร้อมเพย์ (Prompt Pay) อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (internet banking) แอปพลิเคชันบนมือถือ (mobile application) ที่เชื่อถือได้ ใช้งานได้ง่าย และประหยัด ยังมีส่วนช่วยเร่งการจับจ่ายผ่านระบบออนไลน์อีกทาง

TMB Analytics คาดการณ์ว่า ปี 2561 มีมูลค่ากว่า 9.2 แสนล้านบาทและขยายตัวเป็น 3.0 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 ต่อปี ธุรกิจที่ได้รับอานิสงค์โดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ ธุรกิจขายของออนไลน์(สินค้าอุปโภคบริโภค) ธุรกิจขนส่งสินค้า ธุรกิจบริการด้านไอที


จาก 5 เทรนด์ดังกล่าว เป็นปัจจัยบวกที่จะผลักดันให้ 15 ธุรกิจดังต่อไปนี้ เป็นธุรกิจดาวเด่นที่ได้รับประโยชน์จากเทรนด์เหล่านี้ ได้แก่

เทรนด์การลงทุนภาครัฐ

  1. ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
  2. ธุรกิจที่ปรึกษาก่อสร้าง / สิ่งแวดล้อม
  3. ธุรกิจขาย / ให้เช่าเครื่องจักรกลก่อสร้าง

เทรนด์ท่องเที่ยวไทย

  1. ธุรกิจที่พัก
  2. ธุรกิจร้านอาหาร
  3. ธุรกิจขนส่ง

เทรนด์สังคมสูงวัยและใส่ใจสุขภาพ

  1. ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ
  2. ธุรกิจขายยาและอุปกรณ์การแพทย์
  3. ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ออกกำลังกาย

เทรนด์เศรษฐกิจโลกฟื้น

  1. ธุรกิจส่งออกอาหารแปรรูป
  2. ธุรกิจส่งออกผัก / ผลไม้
  3. ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

เทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัล

  1. ธุรกิจขายของออนไลน์ (สินค้าอุปโภค-บริโภค)
  2. ธุรกิจขนส่ง
  3. ธุรกิจบริการด้านไอที

แหล่งที่มา
https://www.brandbuffet.in.th

By Praimpat Trakulchokesatiean

CEO ของธุรกิจ Startup ต้องพูดในที่สิ่งควรจะพูดเพื่อทำให้ธุรกิจมีความโดดเด่น เป็นที่สนใจของเหล่านักลงทุน ถึงแม้ว่า CEO แต่ละคนจะมีวิธีการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความสามารถและความถนัด แต่โดยทั่วไปแล้วจะควรจะอยู่บนหลักการ 7 อย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนอยากรู้เกี่ยวกับธุรกิจของคุณนั่นแหละ บทความนี้แปลมาจาก Inc.com นะคะ แล้วก็มีการเพิ่มเติมข้อมูลจากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปฟัง Pitching งานของ Startup มาพอสมควร หลักการที่ว่านั้นจะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

บอกส่วนแบ่งตลาดหรือกำไรให้ชัดเจน

นักลงทุนอาจจะชอบวิสับทัศน์ของคุณมาก แต่นั่นไม่เพียงพอที่จะทำให้พวกเขาตัดสินใจลงทุนกับคุณหรอก เพราะเขาเองก็ต้องการทำกำไรด้วย ดังนั้น การบอกตัวเลขที่แสดงถึงผลกำไรที่ชัดเจนคือวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความประทับใจให้กับเหล่านักลงทุน

แสดงความเป็นไปได้ที่ธุรกิจจะเติบโต

นักลงทุนต้องอยากเห็นตลาดที่ยั่งยืนและมั่นคง คุณจึงต้องแสดงให้เห็นคุณค่าของธุรกิจและคุณค่านั้นจะเติบโตต่อไปได้อย่างไรบ้าง อธิบายว่าธุรกิจของคุณจะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับคนแต่ละกลุ่มได้อย่างไร และแบรนด์ของคุณมีแนวโน้มว่าจะเติบโตมากแค่ไหน ทั้งในแง่ของตลาดและรายได้ที่จะหลั่งไหลเข้ามา เพราะนักลงทุนเองก็จะมองหาโอกาสที่จะให้เงินทำงานแทนพวกเขา ดังนั้น Startup จึงควรแสดงให้เห็นว่าการเลือกลงทุนกับคุณจะตอบโจทย์ทางการเงินของพวกเขา

มี Business Model ที่ชัดเจน

Business Model นี่แหละที่จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเรียกความสนใจจากนักลงทุน พูดง่ายๆ คือต้องแสดงให้เห็นวิธีทำเงินของธุรกิจได้อย่างชัดเจน เป็นต้นว่ามีรายได้มาจากไหนบ้าง ใครคือลูกค้าบ้าง จะเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไร เน้น B2B หรือ B2C ฯลฯ ซึ่งต้องมีขอบเขตที่ชัดเจนและมีรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะนักลงทุนไม่ได้มองหาธุรกิจที่แน่นอนตายตัว แต่พวกเขามองหาธุรกิจที่จะมีความเติบโตและมีแผนการที่ชัดเจนว่าจะเติบโตได้อย่างไร

เรื่องของ Business Model ยังมีรายละเอียดที่อยากเล่าให้ฟังอีกอย่างคือ ในกรณีที่ Business Model ของคุณไม่เหมือนกับใครที่ไหนเลย หรือคุณอาจจะเป็น First mover ในธุรกิจลักษณะนี้ ก็ควรจะอ้างอิงด้วยว่าในประเทศอื่นๆ มี Business Model ที่ใกล้เคียงกันหรือไม่ เผื่อว่าในอนาคตอาจจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ที่สามารถต่อยอดธุรกิจของคุณได้ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่นักลงทุนให้ความสนใจเช่นกัน

ต้องตอบให้ได้ว่าธุรกิจของคุณตอบโจทย์อะไร

ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและมองเห็น “ปัญหา” ที่อยากจะแก้ไขด้วยสินค้าและบริการของธุรกิจ โดยปัญหานี้ควรจะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากในระดับหนึ่ง ส่วนปัญหาเล็กๆ ที่ส่งผลกระทบกับคนน้อยมากๆ นั้นอาจจะมีโอกาสทำเงินได้น้อยหรืออาจจะเจริญเติบโตได้ยากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ขนาดของกลุ่มเป้าหมายนั้นไม่สำคัญเท่ากับว่าคุณระบุให้เห็นถึงปัญหาได้ชัดเจนแค่ไหนและสินค้าหรือบริการของคุณสามารถแก้ปัญหานั้นได้มากน้อยเพียงใด

พิสูจน์ให้เห็นว่าคุณแตกต่าง

อย่างแรกเลยคือคุณต้องเป็น “เจ้าของ” ธุรกิจของคุณอย่างแท้จริง ซึ่งมันหมายถึงการแสดงให้นักลงทุนเห็นว่าคุณมีสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของในธุรกิจนั้นๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ต่างก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่สักเท่าไรนักสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก นั่นคือความแตกต่างอย่างแรกที่ควรจะมี ประการที่ 2 คือ ความแตกต่างในแง่ของนวัตกรรม ซึ่งจะอยู่ในสินค้าและบริการที่มาจากธุรกิจของคุณ ถ้าเป็นไปได้ก็จับเอาสินค้าและบริการอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันมาเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ เลยว่าสิ่งที่คุณขายนั้นต่างจากพวกเขาอย่างไร

แสดงให้เห็นว่าทีมของคุณเจ๋งมาก

นักลงทุนสนใจผลกำไรและโอกาสทางธุรกิจ แต่พวกเขาก็ต้องพิจารณาด้วยว่าใครบ้างที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนั้น และคนเบื้องหลังเหล่านั้นมีศักยภาพเพียงพอที่จะผลักดันให้ธุรกิจไปได้สวยหรือไม่ ไอเดียที่ดูดีมากเมื่ออยู่ในแผนธุรกิจจะเป็นแค่เรื่องเพ้อเจ้อทันทีหากไม่มีทีมที่ดีมาสนับสนุน ดังนั้น นอกจากคุณจะต้องจ้างคนเก่งๆ มาอยู่ในทีมแล้ว อย่าลืมเอาความสามารถของพวกเขามาอวดนักลงทุนด้วยล่ะ

แสดงให้เห็นว่าคุณเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไร

การมีลูกค้าที่ซื้อหรือใช้บริการซ้ำๆ จะบ่งชี้ถึงความสำเร็จของธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง การเชื่อมโยงกับลูกค้าในลักษณะเครือข่ายถือเป็นสัญญาณที่ดีในสายตานักลงทุน ดังนั้นต้องแน่ใจว่าคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและแสดงให้นักลงทุนเห็นว่าบรรดาลูกค้าของคุณน่ะ มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ของคุณมากแค่ไหน

ในแง่ของคนทำธุรกิจ Startup นอกจากจะต้องพัฒนาสินค้าและบริการให้ดีแล้ว สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้และมีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจอย่างมากก็คือต้องรู้จักนักลงทุน รู้จักในที่นี้หมายถึง รู้ว่านักลงทุนมองหาอะไรจากธุรกิจของคุณ ดังนั้น สิ่งที่คุณต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก็คือการศึกษาข้อมูลที่จำเป็น ซึ่งจะเปรียบเทียบง่ายๆ มันก็เหมือนกับคาถาเรียกเงินนั่นแหละ ยิ่งมีข้อมูลที่เตะตานักลงทุนเท่าไร คุณก็ยิ่งได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น ลองเอาหลักการ 7 อย่างนี้ไปใช้ในการร่างเค้าโครงเวลาจะนำเสนองานกับนักลงทุนดูนะคะ น่าจะได้ผลตอบรับที่ดีจากนักลงทุนแน่นอน


แหล่งที่มา
http://thumbsup.in.th